การเมืองการปกครองของไทย
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานชาติหนึ่ง แม้ว่าหลักฐานเกี่ยวกับปฐมกำเนิดของชาติไทยจะไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า ชนชาติไทยเป็นผู้ที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนแถบมณฑลยูนาน หรือมีรกรากอยู่ในสุวรรณภูมิแห่งนี้มาแต่เก่าก่อนก็ตาม การศึกษาวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองสมควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ประเทศไทยตั้งอาณาจักรมั่นคงขึ้นในแหลมทอง เมื่อ พ.ศ. 1781 อาณาจักรแรกของชาติไทย คือ อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสถาปนาโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง ประกาศตนเป็นอิสระจากขอมซึ่งยึดครองดินแดนแถบนั้นอยู่ในสมัยนั้น
การเมืองการปกครองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนหน้ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อยู่ในรูปแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบอบเผด็จการ เพราะว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น พระมหากษัตริย์ได้อำนาจมาด้วยการสืบสันตติวงศ์ หรือการปราบดาภิเษก ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสถาปนาหรือคัดเลือกพระมหากษัตริย์เลย
ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีลักษณะที่ไม่ราบรื่นและพัฒนามากนัก แม้ว่าจะดำเนินมาเป็นเวลากว่า 60 ปี แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าระบอบประชาธิปไตยได้หยั่งลึกพอสมควร การศึกษาการเมืองการปกครองไทยหากจะแบ่งยุคสมัยให้เหมาะสมแก่การศึกษาแล้วจะแบ่งออกได้เป็น 3 ยุคสมัยด้วยกัน คือ สมัยสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. 1781 – 1921 สมัยอยุธยา พ.ศ. 1893 – 2310 และสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 – 2475 ส่วนหลักจาก พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน จะกล่าวโดยละเอียดในบทต่อไปที่ว่าด้วยการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน แม้ว่าในประวัติศาสตร์จะปรากฏว่ามีสมัยธนบุรีระหว่าง พ.ศ. 2311 – 2325 แต่เนื่องจากสมัยนั้นชาติไทยอยู่ในระยะสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่หลักจากเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 และลักษณะการปกครองยังยึดแบบของกรุงศรีอยุธยาอยู่ ไม่ได้เสริมสร้างลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมา จึงไม่ขอกล่าวเป็นการเฉพาะ และคงแบ่งยุคสมัยออกเป็น 3 สมัย ดังที่กล่าวตอนต้นเท่านั้น
สมัยสุโขทัย
ในหนังสือปาฐกถาของสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ได้อธิบายไว้ว่า วิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือน หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้าน อยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่าลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง ถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศอยู่ในความปกครองของพ่อขุน
แม้ว่าระบอบการปกครองของสุโขทัยจะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะอำนาจสูงสุดเด็ดขาดไม่ว่าจะในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมอยู่ที่พ่อขุนเพียงพระองค์เดียว และพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ด้วยการจำลองลักษณะครองครัวมาใช้ในการปกครองทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อขุนเกือบทุกพระองค์เป็นไปในลักษณะทางให้ความเมตตาแลเสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงปกครองประชาชนในลักษณะ บิดาปกครองบุตร คือ ถือพระองค์เป็นพ่อของราษฎร มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยแบะส่งเสริมความสุขให้ราษฎร ราษฎรในฐานะบุตรก็มีหน้าให้ความเคารพเชื่อฟังพ่อขุน ปรากฏว่าพ่อขุนกับประชาชนในลักษณะการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรมีความใก้ลชิดกันพอสมควร จะเห็นได้จากการที่ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุนโดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่งพระองค์ก็จะทรงชำระความให้ ส่วนการจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครอง อำนาจการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่เมืองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการของรัฐบาล และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ การปกครองหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ
1 หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองหน้าด่าน หรือเมืองลูกหลวง จัดเป็นเมืองในวงเขตราชธานีล้อมรอบราชธานีทั้ง 4 ด้าน มีศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) สองแคว (พิษณุโลก) สระหลวง (พิจิตร) และกำแพงเพชร การปกครองหัวเมืองชั้นในขึ้นกับสุโขทัยโดยตรง
2 หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองท้าวพระยามหานครที่มีผู้ปกครองดูแลโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับสุโขทัยในรูปลักษณะการสวามิภักดิ์ ในฐานะเป็นเมืองขึ้น หัวเมืองชั้นนอกมี แพรก (สรรคบุรี) อู่ทอง (สุพรรณบุรี) ราชบุรี ตะนาวศรี แพร่ หล่มสัก เพชรบูรณ์ และศรีเทพ
3 เมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองที่เป็นชาวต่างภาษา มีกษัตริย์ปกครองแต่ขึ้นกับสุดขทัย ในฐานะประเทศราช มีนครศรีธรรมราช ยะโฮร์ ทวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน เซ่า เวียงจันทน์ และเวียงกา
ลักษณะเด่นของการปกครองสมัยสุโขทัยเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีลักษณะปกครองแบบบิดาปกครองบุตร มีพระมหากษัตริย์ (พ่อขุน) เป็นประมุข โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในชาติ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน แต่มีหน้าที่ต่างกันเท่านั้น
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 1826 ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น โดยใช้อักษรมอญและอักษรขอมเป็นตัวอย่าง รวมทั้งอักษรไทยเก่าแก่บางอย่างขึ้น ทำให้ชาติไทยมีอักษรไทยใช้เป็นวัฒนธรรมของเราเองจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงทำให้ทราบว่าไทยเรามีระบบกฎหมายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งกฎหมายมรดก กฎหมายภาษี กฎหมายค้าขาย กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน เป็นต้น
สมัยสุโขทัยนอกจากจะมีสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ก็ได้มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มอญ มลายู ลังกา ตลอดจนอินเดีย เริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และมาตั้งประกอบกิจการต่างๆ เช่น พวกจีนเข้ามาตั้งทำเครื่องสังคโลก เป็นต้น มีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี จกอบ หรือศุลกากรเพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทำการค้า
นอกจากนี้พ่อขุนรามคำแหงทรงศรัทธาในหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุในพระศาสนานิกายหินยานที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศลังกา พระองค์จึงทรงอัญเชิญพระภิกษุสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์มาประจำที่กรุงสุโขทัยทำหน้าที่เผยแพร่พระศาสนาลัทธิใหม่ ในระยะเวลาอันสั้นพระพุทธศาสนาลิทธิลังกาวงศ์ก็มีความเจริญในสุโขทัย ประชาชนพากันยอมรับนับถือและวิวัฒนาการมาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในที่สุด
การนำพระศาสนาเข้ามา และพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทำตัวอย่างให้ประชาชนเห็นถึงความเคารพของพระองค์ที่มีต่อพระภิกษุและหลักธรรม ทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อให้เกิดศีลธรรมจรรยา และระเบียบวินัยแก่ประชาชน ทำให้มีความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพราะทั้งพ่อขุนและประชาชนมีหลักยึดและปฏิบัติในทางธรรม พระมหาธรรมราชาลิไทย พ่อขุนของสมัยสุโขทันในสมัยต่อๆ มา ได้ทรงนิพนธ์หนังสือไทยเรื่องเกี่ยวกับศาสนาชื่อ ไตรภูมิพระร่วง และในหนังสือเรื่องนี้เองได้แถลงถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นหลักของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่นั้นมา
สมัยอยุธยา
ระบอบการปกครองในสมัยอยุธยาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว เหมือนกับสมัยสุโขทัย แต่แนวความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ซึ่งพวกขอมนำมา โดยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจจากสวรรค์ตามแนวความคิดแบบลัทธิเทวสิทธิ์
ลักษณะการปกครองแบบเทวสิทธิ์นี้ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนเจ้าชีวิต นอกจากจะมีพระราชอำนาจเด็ดขาด สามารถกำหนดชะตาชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครองแล้ว ยังถือว่าอำนาจในการปกครองนั้นพระมหากษัตริย์ทรงได้รับจากสวรรค์ หรือเป็นไปตามเทวโองการ การกระทำของพระมหากษัตริย์ถือเป็นความต้องการของพระเจ้า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเหมือนสมมุติเทพ หรือพระเจ้า หรือผู้แทนพระเจ้า เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์ตามแนวความคิดแบบเทวสิทธิ์จึงทรงอำนาจสูงสุดล้นพ้น ลักษณะการปกครองเป็นแบบนายปกครองบ่าว หรือเจ้าปกครองข้า
สำหรับเรื่องการปกครองนั้น เนื่องจากสมัยอยุธยามีระยะเวลายาวนาน และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลักเกณฑ์การปกครองบ้างไม่ได้ใช้รูปแบบเดียวตลอดสมัย จึงเห็นสมควรแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 สมัย คือ สมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่าง พ.ศ. 1893 – 1991 และสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย เริ่มแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 จนกระทั่งเสียกรุง เมื่อปี พ.ศ. 2310
1. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1893 – 1991 ) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ได้ทรงวางระบอบการปกครองส่วนกลางเป็นแบบ จตุสดมภ์ ตามแบบ ขอม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อำนวยการปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง (เวียง) ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทั้ง 4 คือ
1. เมือง (เวียง) รับผิดชอบด้านรักษาความสงบและปราบปรามโจรผู้ร้าย
2. วัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก การยุติธรรม และตัดสินคดีความต่างๆ
3. คลัง ได้แก่ งานด้านคลังมหาสมบัติ การค้า และภาษีต่างๆ
4. นา รับผิดชอบเกี่ยวกับการเกษตร
สำหรับการจัดระเบียบการปกครองนั้นได้นำรูปแบบในสมัยสุโขทัยมาใช้ โดยให้ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเป็นศูนย์กลางการปกครอง เมืองอื่นๆ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1. หัวเมืองชั้นใน ประกอบด้วยเมืองหน้าด่านชั้นในสำหรับป้องกันในราชธานี 4 ทิศ คือ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี รวมทั้งหัวเมืองชั้นในเรียงรายตามระยะทางคมนาคม สามารถติต่อกับราชธานีได้ภายใน 2 วัน เช่น นครพนม สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ราชบุรี เป็นต้น
2. หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร ได้แก่ เมืองซึ่งอยู่นอกเขตหัวเมืองชั้นในออกไปตามทิศต่างๆ ได้แก่ โคราช จันทบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ถลาง ตะนาวศรี ทวาย และเชียงกราน เมืองเหล่านี้บางเมืองในสมัยสุโขทัย จัดว่าเป็นเมืองประเทศราชแต่ในสมัยอยุธยาได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นหัวเมืองชั้นนอก
3. เมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองมะละกา ยะโฮร์ ทางแหลมมลายู และกัมพูชาด้านตะวันออกในสมัยอยุธยานี้ นอกจากจะจัดการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ในหัวเมืองชั้นในอีก โดยแบ่งออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออเกเป็นตำบล และตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน โดยมีผู้ปกครองตามระดับ ดังนี้ หมื่นแขวง กำนันซึ่งมักได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพัน และผู้ใหญ่บ้าน
ประชาชนในสมัยอยุธยาตอนต้นมีฐานะเป็นไพร่ ทำหน้าที่ทั้งทางราชการ และหน้าที่ทางพลเรือน พร้อมกันไปเพราะว่าการปกครองในสมัยนั้นยังไม่มีทฤษฎีการแบ่งงาน ประชาชนเป็นไพร่ได้รับที่ดินตามที่ตนและครอบครัวจะทำการเพาะปลูกได้ เมื่อมีผลผลิตเกิดขึ้นพวกไพร่จะต้องมอบส่วนหนึ่งให้กับขุนวัง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลที่ดินนั้น ไพร่จะต้องสละเวลาส่วนหนึ่งไปรับใช้ ผู้ที่ยอมให้ตนอยู่ในที่ดินของเขา ขุนนางจะเป็นผู้ควบคุมไพร่โดยตรง และมีหน้าที่ระดมกำลังยามศึกสงคราม หรือเกณฑ์แรงงานไปช่วยทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนหรือไพร่ทุกคนจะต้องรับใช้พระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นทหารทุกคน
2. สมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย (พ.ศ. 1991 - 2310) การปรับปรุงการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในช่วง 100 ปีแรกของสมัยอยุธยา การบริหารมิได้แยกกันระหว่างฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงขึ้นครองราชย์ในระหว่าง พ.ศ. 1991 – 2031 พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ ให้มีสมุหนายกเป็นหัวหน้าราชการ ฝ่ายพลเรือน โดยมีเสนาบดีจตุสมดภ์เป็นผู้ช่วย รับผิดชอบบริหารกิจการเกี่ยวกับเมือง วัง คลัง นา และให้มีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าราชการ ฝ่ายทหาร ทำหน้าที่ด้านทหารและการป้องกันประเทศไพร่จะได้รับสิทธิที่จะเลือกสังกัดฝ่ายพลเรือน หรือ ฝ่ายทหาร แต่ในยามสงครามไพร่ทั้งสองฝ่ายต้องออกรบด้วยกัน
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – 2031 ) ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยศักดินาขึ้นและใช้มาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศักดินา คือ วิธีให้เกียรติยศบุคคลตั้งแต่ขุนนางข้าราชการลงไปถึงไพร่และทาสโดยกำหนดจำนวนที่นามากน้อยตามศักดิ์หรือเกียรติยศของบุคคล เช่น ขุนนางชั้นเอก คือ ชั้นเจ้าพระยามีศักดินา 10,000 ไร่ คนธรรมดาสามัญมีศักดินา 25 ไร่ ทาสมีศักดินา 5 ไร่ เป็นต้น การกำหนดระบบศักดินาขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน นอกจากนี้ระบบศักดินายังเกี่ยวพันกับการชำระโทษและปรับไหมในกรณีกระทำผิดอีกด้วย คนที่ถือศักดินาสูงเมื่อทำผิดจะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ การปรับในศาลหลวงค่าปรับนั้นก็เอาศักดินาเป็นบรรทัดฐาน
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในสมัยอยุธยานอกจากค้าขายกับชาติต่างๆ ใน เอเชียแล้ว ก็ได้ค้าขายกับชาวตะวันตกด้วย ชาติแรกที่เข้ามาคือ โปรตุเกส โดยฑูตชื่อ ดูอาร์ต เฟอร์นันเดช ในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2061 ได้มีการเซ็นสัญญาอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสทำมาค้าขายในดินแดนไทยได้ ต่อจากนั้นก็มีชนชาติอื่นๆ เช่น สเปน อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศสทยอยกันเข้ามามีสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย
โดยปกติพระมหากษัตริย์ของไทยมักให้การต้อนรับชนต่างชาติเป็นอย่างดี บางครั้งก็มีกองกำลังต่างชาติประจำการเป็นอาสาประจำอาณาจักร โดยเฉพาะในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - 2231) มีชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ หลายคน มีการแลกเปลี่ยนทูตกับฝรั่งเศสหลายครั้ง หลังจากสมัยพระนารายณ์ลงมา อิทธิพลของชาวตะวันตกในราชสำนักจึงลดลง เพราะพระมหากษัตริย์ของอยุธยาตอนปลายไม่นิยมชาวตะวันตก และระแวงว่าจะเข้ามาหาทางครอบครองเอาชาติไทยเป็นเมืองขึ้น
สมัยรัตนโกสินทร์
ลักษณะการปกครองในสมัยธนบุรี ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในสมัยอยุธยาเนื่องจากขณะนั้นเป็นระยะที่ไทยกำลังรวบรวมอาณาจักรขึ้นใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ทรงมีพระราชภาระในการปราบปรามบรรดาชุมนุมอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก รูปแบบการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยาคงใช้อยู่เรื่อยมา แม้แต่ในสมัย รัตนโกสินทร์ตอนต้น เพิ่มมีการปฏิรูปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าการปรับปรุงระเบียบแบบแผนการปกครองในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการวางแนวรากฐานเตรียมพร้อมไว้สำหรับการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาอารยธรรมตะวันตก เป็นเหตุให้ได้รับทราบถึงความเจริญก้าวหน้าในหลักการปกครองของตะวันตกและนำมาปรับปรุงในการปกครองของไทย
การที่รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองไปจากเดิมเป็นอย่างมาก เพราะทรงเห็นว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะรักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้ ในช่วงการขยายลัทธิจักรวรรดินิยมของชาติตะวันตกเพราะในขณะนั้นประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงล้วนแต่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกทั้งสิ้น การปรับปรุงการปกครองให้ทันสมัยทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว สามารถปกครองดูแลพัฒนาบ้านเมืองเองได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประเทศชาติมีรายได้ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองมากขึ้น ทำให้สายตาของชาวต่างชาติมองประเทศไทยต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และด้วยการวางวิเทโศบายทางการทูตกับชาติตะวันตกต่างๆ อย่างเหมาะสม ยอมรับว่าชาวยุโรปเป็นชาติที่เจริญ ให้เกียรติและยกย่องพร้อมกับเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติต่างๆ อย่าง เพื่อให้เห็นว่าไทยไม่ใช่ชนชาติป่าเถื่อน เช่น ให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า นอกจากนั้น ยังยอมผ่อนปรนอย่างชาญฉลาด แม้จะเสียผลประโยชน์หรือดินแดนไปบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย ยังสามารถรักษาส่วนใหญ่ไว้ได้ ทำให้ประเทศไทยคงความเป็นชาติที่มีเอกราชมาได้ตลอด
การปฏิรูปการปกครองสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิก ตำแหน่ง อัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมถ์ โดยการแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยะประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2435 มี 12 กระทรวง คือ
1. มหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว
2. กลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ หัวเมืองฝ่ายตะวันออก
ตะวันตก และเมืองมลายู
3. ต่างประเทศ จัดการเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ
4. วัง กิจการในพระราชวัง
5. เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตำรวจและราชฑัณฑ์
6. เกษตราธิการ ว่าการเกี่ยวกับการเพาะปลูก เหมืองแร่ ป่าไม้
7. คลัง ว่าการภาษีอากรและงบประมาณแผ่นดิน
8. ยุติธรรม จัดการเรื่องชำระคดีและการศาล
9. ยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการทหาร
10. ธรรมการ ว่าการเรื่องการศึกษา การสาธารณสุขและสงฆ์
11. โยธาธิการ ว่าการเรื่องการก่อสร้าง ถนน คลอง การช่าง
ไปรษณีย์โทรเลข และรถไฟ
12. มุรธาธิการ เกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน
และงานระเบียบสารบรรณ
ภายหลังได้ยุบกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และยุบกระทรวงมุรธาธิการ ไปรวมกับกระทรวงวัง คงเหลือเพียง 10 กระทรวง เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็น เสนาบดีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย เพราะอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของพระมหากษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงแต่งตั้ง สภาที่ปรึกษา ในพระองค์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น รัฐมนตรีสภา ประกอบด้วยเสนาบดี หรือผู้แทนกับผู้ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรวมกันไม่น้อยกว่า 12 คน จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ปรึกษาและคอยทัดทานอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสภาดังกล่าวหาได้บรรลุจุดประสงค์ที่ทรงหวังไว้เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะโต้แย้ง พระราชดำริส่วนใหญ่มักพอใจที่จะปฏิบัติตามมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงแต่งตั้งองคมนตรีสภาขึ้นอีก ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกเมื่อแรกตั้งถึง 49 คน มีทั้งสามัญชน ตั้งแต่ชนชั้นหลวงถึงเจ้าพระยาและพระราชวงศ์ องคมนตรีสภานี้อยู่ในฐานะรองจากรัฐมนตรีสภา เพราะข้อความที่ปรึกษา และตกลงกันในองคมนตรีสภาแล้ว จะต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีสภาแล้วจึงจะเสนาเสนาบดีกระทรวงต่างๆ
ในด้านการปกครองท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้มีการบริหาราชการส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเทศบาลในปัจจุบันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาล กรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ขึ้นบังคับใช้ในกรุงเทพฯ ต่อมาได้ขยายไปที่ท่าฉลอม ปรากฏว่าดำเนินการได้ผลดีเป็นอย่างมากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2448 ขึ้น โดยแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล ท้องถิ่นใดเหมาะสมที่จะจัดตั้งสุขาภิบาลใดก็ให้ประกาศตั้งสุขาภิบาล ในท้องถิ่นนั้น
สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ขึ้น เป็นผลให้ในการปกครองแบ่งประเทศออกเป็นมณฑล ถัดจากมณฑลก็คือ เมือง ซึ่งต่อมาเรียกเป็นจังหวัด จากจังหวัดแบ่งเป็นอำเภอ โดยกระทรวงมหาดไทยตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปปกครองทั้ง 3 ระดับ อำเภอแบ่งเป็นหมู่บ้าน มีกำนันเป็นผู้ปกครอง
แม้ว่าการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระราชกรณียกิจบางประการของพระมหากษัตริย์ก็ถือได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสมัยพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การเลิกทาส พระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเลิกทาสเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2417 นโยบายการเลิกทาสของพระองค์นั้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทัดเทียมกันอันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
2. สนับสนุนการศึกษา ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษา หาความรู้ ตั้งทุนพระราชทาน ส่งผู้มีความสามารถไปศึกษาต่อต่างประเทศ จากการสนับสนุนการศึกษาอย่างกว้างขวางนี้ นับได้ว่าเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการปกครองประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย
3.การปฏิรูปการปกครอง การปฏิรูประบอบบริหารราชการ ทรงเปิดโอกาสให้ข้าราชการมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารมากขึ้น ทรงสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นด้วยการจัดตั้งสุขาภิบาล ทำให้ประชาชนธรรมดามีส่วนและมีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การบริหารการปกครอง ตามหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง
นอกจากนี้ในสมัย พระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการส่งเสริมการศึกษาให้แพร่หลาย มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง และสนับสนุนให้ทุนหลวงโดยส่งนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศมีการศึกษาภาคบังคับ โดยกำหนดว่าใครอายุครบเกณฑ์ 7 ปี ต้องเข้ารับการศึกษาขั้นประถมศึกษา ทำให้ประชาชนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น พระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงนิยมระบอบประชาธิปไตย โดยได้ทรงจัดตั้ง เมืองสมมุติดุสิตธานี ขึ้นในบริเวณวังพญาไท จำลองรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองลักษณะนคราภิบาลซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง และให้ข้าราชบริพารสมมุติตนเองเป็นราษฎรของดุสิตธานี มีการจัดตั้งสภาการเมืองและเปิดโอกาสให้ราษฎรสมมุติใช้สิทธิ์ใช้เสียงแบบประชาธิปไตย เป็นเสมือนการฝึกหัดการปกครองแบบประชาธิปไตย
ต่อมาพระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ระหว่างเสด็จเยี่ยมเยียนสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2474 ว่าพระองค์ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน เพราะทรงเห็นว่าคนไทยมีการศึกษาดีขึ้นมีความคิดอ่านและสนใจทางการเมืองมากขึ้น เมื่อเสด็จกลับมา พระองค์ทรงมอบให้พระศรีวิสารวาจา ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอน สตีเวนส์ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแต่ดำเนินการไม่ทันแล้วเสร็จ ได้มีการปฏิวัติขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนับตั้งแต่นั้นมา
สาระสำคัญของการปกครองตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเพื่อประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ
1. อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของประชาชนชาวไทย
2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะกำหนดหน้าที่ความสัมพันธ์ของสถาบันการปกครองต่างๆ ไว้อย่างละเอียดและชัดเจน
3. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
คณะราษฎรได้จัดตั้งการปกครองประเทศตามนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลัก 6 ประการ มีดังนี้
1. จะต้องรักษา ความเป็นเอกราช ทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง
2.จะต้องรักษา ความปลอดภัย ภายในประเทศ ในการประทุษร้ายต่อกันให้ลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุง ความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกๆ คนทำจะวางเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (หมายถึง สิทธิเสมอภาคกันทางกฎหมาย)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มี เสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ส่วนการจัดการปกครองตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งใช้ระหว่าง วันที่ 27 มิถุนายน ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีการดำเนินการให้องค์กรการปกครอง คือ
1. สภาผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย และดูแลควบคุมกิจการของประเทศ ในระยะเริ่มแรกสมัยที่ 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรมีจำนวน 70 คน
2. คณะกรรมการราษฎร เป็นฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มามีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา มีเสนาบดีซึ่งเป็นเสมือนรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง โดยมีประชาชน กรรมการราษฎรหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
3. ศาล เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย (ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น) ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
ต่อมาก็ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ดำเนินการปกครองในรูปประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข องค์กรหลักในการปกครอง คือ พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุข รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ แม้ภายหลังจากนั้นจะมีการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกหลายครั้ง แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยพยายามที่จะยึดรูปการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาโดยตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น